ไฮไลท์

Highlights

19 October 2022

iCPCJ เปิด 4 ข้อเสนอ “กระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” แนวคิดที่ถูกผลักดันจากหลักสูตรใหม่

ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก และการสร้างโอกาสแก่ผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน คือ 4 ประเด็นหลักที่ยังเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

เมื่อถูกมองว่าเป็นปัญหา ทั้ง 4 ประเด็น จึงถูกนำมาขบคิดผ่านหลักสูตรที่มีชื่อว่า “iCPCJ” หรือ “หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐาน และบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม” ซึ่งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้เชิญบุคลากรที่หลากหลาย ทั้งผู้บริหารหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์การระหว่างประเทศที่ทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และผู้นำองค์กรภาคเอกชน เข้ามาร่วมเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอและแนวปฏิบัติที่จะนำ “มาตรฐานสากล” มาปรับใช้กับกระบวนการยุติธรรมในบริบทของประเทศไทย ภายใต้แนวคิดหลักคือ “การสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และได้นำเสนอข้อค้นพบต่างๆ จากทั้ง 4 หัวข้อ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565

จากปัญหาทั้ง 4 ประเด็น นำมาสู่ข้อค้นพบ ดังนี้

ประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ : นโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กติดผู้ต้องขัง” เรื่องราวของกลุ่ม “เด็กติดผู้ต้องขัง” เด็กที่ไม่ได้ทำความผิด แต่ต้องมาอยู่ในเรือนจำกับผู้ใหญ่ ซึ่งมีตั้งแต่เด็กที่ติดอยู่ในครรภ์มารดาไปจนถึงเด็กอ่อน และพบว่า เป็นหนึ่งในปัญหาที่แทบไม่เคยถูกแก้ปัญหาได้ด้วยกระบวนการยุติธรรม จึงนำตัวอย่างแนวทางที่ใช้ในหลายๆ ประเทศมาเปรียบเทียบ พร้อมจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งในระดับที่สามารถผลักดันให้เกิดมาตรฐานสากล และมาตรฐานที่จะนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ตามหลักการ “เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” โดยข้อเสนอนี้ เน้นไปที่การใช้ “มาตรการอื่นที่มิใช่การคุมขัง” กับ ผู้กระทำความผิดที่ตั้งครรภ์หรือต้องมีภาระเลี้ยงดูบุตร กรณีที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง เพื่อให้ผู้ปกครองมีศักยภาพที่จะดูแลบุตรได้เองโดยที่ไม่ต้องนำเด็กเข้าไปอยู่ในเรือนจำด้วย

ประเด็น การสร้างโอกาสแก่ผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน : ถูกนำเสนอเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ ที่จะนำมาใช้ในการประเมินความพร้อมก่อนปล่อยตัวเยาวชนที่ก้าวพลาด ในชื่อ “การเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน ด้วยหลักการ Good Lives Model” (Supporting the effective reintegration of young offenders with assessment tool under the Good Lives Model) โดยเครื่องมือชิ้นนี้ คือ “แบบประเมินความต้องการ 5 ด้าน ของเยาวชน” ประกอบด้วย ครอบครัว การศึกษาและการประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัยและระบบการดูแลของชุมชน การใช้เวลาว่างและการคบเพื่อน การจัดการและการแก้ไขปัญหาสุขภาพ โดยเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวให้เยาวชนแต่ละคนได้กลับสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเครื่องมือนี้ถูกนำไปให้นักสังคมสงเคราะห์ทดลองนำไปใช้มาแล้ว

ประเด็น การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก : ถูกมองผ่านปัญหาการบำบัดแก้ไขเยาวชนที่ก้าวพลาด หลังพบข้อมูลว่า เมื่อนำเยาวชนเหล่านี้เข้าสู่การจองจำในลักษณะการควบคุมตัว กลับมีสถิติการกระทำผิดซ้ำอยู่ในอัตราที่สูง จึงเสนอแนวทางการตั้ง “ศูนย์ฝึกเอกชน” ที่เปลี่ยนจากรั้วและการคุมขัง ไปเป็นการทำความเข้าใจปัญหาและพัฒนาศักยภาพเยาวชนกลุ่มนี้ ในหัวข้อ “บ้านพระพร ยุติธรรมนำร่องของความร่วมมือ” โดยใช้มูลนิธิบ้านพระพร เป็น sandbox ของศูนย์ฝึกเอกชนทดลองประสานงานกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ช่วยปรับเปลี่ยน แก้ไข เยียวยาเยาวชนที่ก้าวพลาดให้กลับคืนสู่สังคม โดยในข้อเสนอนี้ได้ค้นพบว่า ที่ผ่านมามีกลไกที่หน่วยงานรัฐสามารถเปิดทางให้องค์กรภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมเป็นศูนย์ฝึกในรูปแบบใหม่ได้ แต่ยังไม่เคยถูกนำไปใช้จริง

ประเด็นเทคโนโลยีกับกระบวนการยุติธรรม: ถูกมองผ่านปัญหา “หลอกโอนเงินทางออนไลน์” ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ประชาชนล้วนตั้งคำถามกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ถึงความสามารถในการจัดการกับกลุ่มมิจฉาชีพและความสามารถในการปกป้องประชาชนให้ไม่ต้องสูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง จึงกลายเป็นข้อเสนอในชื่อ เปลี่ยนเหยื่อเป็นผู้ล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Winning the People’s battle against phone scams in Thailand) ซึ่งมีทั้งแนวทางการตอบโต้กลุ่มมิจฉาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีตอบโต้ นำไปสู่การหาเส้นทางทางการเงินได้รวดเร็วในระดับเดียวกับที่มิจฉาชีพทำได้ เพื่อนำเงินมาคืนให้กับเหยื่อ สร้างข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะการทำให้การซื้อขายบัญชีธนาคารมีความผิดทางกฎหมาย และแนวทางการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนที่เป็นเป้าหมายของขบวนการ ด้วยวิธีการทำสื่อแบบ offline ซึ่งเข้าถึงประชาชนกลุ่มนี้ได้ง่ายกว่าทาง online

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ และประธานที่ปรึกษาหลักสูตร iCPCJ เปิดเผยว่า เวทีสาธารณะครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานครั้งแรกของผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งเราจะเห็นว่า จากวิธีคิดแบบเดิมที่กระบวนการยุติธรรมมักจะถูกออกแบบมาจากวิธีคิดของภาครัฐเป็นหลัก แต่ผลงานที่ผู้เข้าร่วมอบรม iCPCJ นำเสนอครั้งนี้ มาจากทัศนคติ วิธีคิดและมุมมอง ที่มองว่า กระบวนการยุติธรรมต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จริงๆ มากขึ้น ทั้งเด็ก ผู้หญิง หรือแม้แต่จำเลย นี่จึงถือเป็นเข็มทิศที่สำคัญในการทำงานร่วมกันต่อไป

การกำหนดหัวข้อต่างๆ ของหลักสูตร ยังชี้ให้เห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ทั้งความท้าทาย การขาดความน่าเชื่อถือ การพัฒนานวัตกรรม โดยมีรูปแบบที่ใช้ในกระบวนการศึกษาร่วมกันผ่านวิธีคิดใหม่ๆ ทั้งการคิดเชิงนักออกแบบ (design thinking) การคิดเชิงระบบ (system thinking) และการคิดโดยมองล่วงหน้าไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (future thinking) ทำให้ผู้บริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมมีเครื่องมือนำไปใช้ต่อได้

“องคาพยพต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมไทย ต้องเห็นป่าทั้งป่า ไม่ใช่เห็นแต่ต้นไม้ทีละต้น ต้องเห็นภาพรวม เห็นป่าร่วมกันว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร จึงจะเข้าใจได้ว่าบทบาทของต้นไม้แต่ละต้นจะต้องทำอย่างไรจึงจะนำไปสู่เป้าหมายที่ทำให้มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการที่เรามีมาตรฐานระหว่างประเทศ ก็จะสามารถใช้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นทิศทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

Jeremy Douglas ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (Regional Representative of the United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ในฐานะองค์กรร่วมจัดหลักสูตร iCPCJ แสดงความเห็นว่า ผลงานที่ถูกนำเสนอมีส่วนสำคัญในการจะเชื่อมโยงบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม รวมถึงการดึงความเป็นมืออาชีพในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่า เป็นความท้าทายในการนำมาตรฐานต่างๆ มาอนุวัติ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

“โครงการ iCPCJ ก็เป็นโครงการที่น่าชื่นชมในการยึดถือมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่งเสริมสังคมที่มีสันติภาพและเท่าเทียมกัน โครงการของเราในภูมิภาคเช่นนี้จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับพันธมิตรของเรา โดยทุกท่านจะเห็นว่า iCPCJ เป็นหลักสูตรที่มีแนวคิดใหม่ที่แตกต่างไปจากแนวคิดเดิมๆ ด้วยการนำเครื่องมือหรือกลไก design thinking, system thinking, future thinking มาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในภูมิภาคนี้ต่อไป”

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวปิดท้ายว่า เวทีสาธารณะในครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญรับฟังข้อเสนอ ผลงานการทำงานอย่างหนักของผู้เข้าร่วมหลักสูตร iCPCJ ซึ่งได้เห็นข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ มุมมองที่ลงลึก และปัญหาในหลากหลายมิติ ในฐานะผู้ออกแบบหลักสูตรและจัดกิจกรรมอบรม ยอมรับว่า ผลงานที่ถูกนำเสนอทั้ง 4 หัวข้อ เกินกว่าความคาดหวังและเป็นเสน่ห์สำคัญของการจัดทำหลักสูตร จึงต้องขอขอบคุณข้อเสนอของทุกคนที่เป็นสาระสำคัญ เป็นพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมมองปัญหาความท้าทายด้านกระบวนการยุติธรรม และมองปัญหาความเป็นธรรมต่างๆ

คำสำคัญที่ได้มาจากผลงานทั้ง 4 ชิ้น คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะข้อเสนอที่ได้มาหลายประเด็นมองไปถึงคนที่ถูกมองข้าม อย่างเด็กที่ก้าวพลาดหรือลูกของผู้ต้องขังหญิง และยังเป็นความน่ายินดีที่หัวใจของหลักสูตรนี้ คือ หาทางเลือกใหม่ที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาท้าทายของกระบวนการยุติธรรม และยังได้เห็นการมีส่วนร่วม ได้มุมมองที่หลากหลายจากผู้เล่นหลายส่วนที่ทำให้เห็นความเป็นไปได้ และเห็นโอกาสในการใช้ศักยภาพของการมีส่วนร่วมนี้ ดังนั้น หากสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี สร้างความไว้วางใจ ก็จะพบสะพานเชื่อมให้สิ่งที่ถูกนำเสนอมา สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพได้

ผู้อำนวยการ TIJ บอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ สังคมไทย ยังเป็นสังคมที่เห็นการใช้บทลงโทษแบบเดิม เป็นวิธีการลงโทษในกระแสหลัก แต่จะเห็นได้ว่า ทางเลือกอื่นๆของการลงโทษที่เราพบคือ การใช้วิธีการลงโทษแบบทางเลือก ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างที่เราต้องดูแลแก้ไขกันต่อไปอย่างระมัดระวัง เพราะแม้ว่าผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม จะต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ก็จะยังติดขัดในการใช้อำนาจรัฐ อย่างเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการกระทำผิด แต่กรอบกฎหมายกติกาไม่ได้เปิดช่องในการใช้อำนาจ จึงอาจต้องใช้กระบวนการทดสอบ ทดลองเครื่องมือ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้