ไฮไลท์

Highlights

25 July 2022

ED TIJ เข้าพบหารือ President  KICJ พร้อมนำคณะ iCPCJ แลกเปลี่ยนทางวิชาการในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (EGM) ครั้งที่ 2 ของ KIC

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ และ คุณโสมนัส เจือศรีกุล ผู้อำนวยการสำนัก TIJ Academy เข้าพบหารือ President Tae-Hoon Ha of Korean Institute of Criminology and Justice (KICJ) และเข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ KICJ ครั้งที่ 2 – The Second Korean Institute of Criminology and Justice Expert Group Meeting พร้อมคณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (iCPCJ)

เวทีประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนประเด็นที่สนใจร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นด้านพัฒนาการและแนวทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทย

การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก Dr.Jin You Deputy Director, International Cooperation Center of KICJ กล่าวเปิดและดำเนินการประชุม พร้อมด้วยการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญของ KICJ โดย Dr. Hae Sung Yoon, Senior Research Fellow, Legal Policy Research Division และ Dr.Seong-Hoon Park Research Fellow, Director of Crime Statistics Research Center ในประเด็นเรื่องกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในสาธารณรัฐเกาหลี

ในโอกาสนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจากหลักสูตร iCPCJ ประกอบด้วย ดร.ขัตติยา รัตนดลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และ คุณอัสนีย์ สังขเนตร ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย ในประเด็นร่างกฎหมายด้านมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง และประเด็นการบริการจัดการเรือนจำในประเทศไทย ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามลำดับ

::: KICJ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการการส่งเสริมการวิจัยและความร่วมมือ เพื่อพัฒนานโยบายการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาโดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based policy) รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการนำมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาไปปฏิบัติในสาธารณรัฐเกาหลี และระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสถาบันเครือข่ายแผนงาน ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (UN-PNI) ของ UNODC ที่มีความร่วมมือใกล้ชิดกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด KICJ มีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่หลากหลาย เช่น ประเด็นเกี่ยวกับตำรวจ การดำเนินคดีอาญา โปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูชุมชน (การติดตามทางอิเล็กทรอนิกส์) อาชญากรรมไซเบอร์ การกระทำผิดของเด็กและเยาวชน การทุจริต องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การฟื้นฟูผู้ต้องขัง และการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

#TIJ #KICJ #iCPCJ2022