ไฮไลท์

Highlights

26 January 2022

การปรับตัวของผู้ค้ายาเสพติด ช่วงโควิด-19

สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียน มีข้อมูลการตรวจยึด ยาบ้า ชนิด “เมทแอมเฟตามีน” มากขึ้นทุกๆ ปีในอาเซียน โดยประเทศไทยมีข้อมูลการจับกุมมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตมีจุดผลิตยาบ้าหลัก คือ ทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาเปลี่ยนไปอยู่ที่รัฐฉาน ในเมียนมาร์

ประเด็นสำคัญ คือ ทั้งที่มีการตรวจยึดได้มากขึ้น แต่ปริมาณยาบ้า ไม่ได้ลดลง ดังนั้น แม้ว่าราคาของยาบ้าจะตกลงมา จากปี 2013 มีราคาสูงถึงเม็ดละประมาณ 250 บาท ปัจจุบันเหลือเพียง 10 กว่าบาท แต่นั่นเป็นเพราะมีปริมาณการผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งยาบ้าที่ตรวจพบเกือบทั้งหมดในอาเซียนมาจากแหล่งเดียวกัน เพราะมีหีบห่อที่ชัดเจน คือ ลักษณะเหมือนถุงชาจีน และมีโลโก้

ส่วนเส้นทางขนส่งยาจากเมียนมาร์สู่ไทย มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะชายแดนทางเหนือและภาคตะวันตกของไทยที่เคยเป็นเส้นทางหลักมีด่านตรวจมากขึ้น จึงเปลี่ยนเส้นทางไปเข้าทางภาคอีสานผ่านลุ่มน้ำโขง ทำให้ใน สปป.ลาว และเวียดนาม มีสถิติการตรวจยึดสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยาบ้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ข้อมูล ระบุว่า ยังพบหีบห่อแบบเดียวกันนี้ขยายไปถึงออสเตรเลีย บังคลาเทศ รวมถึงญี่ปุ่นด้วย ซึ่งมีไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศนอกอาเซียน เพราะเมื่อยาบ้าถูกส่งไปยังญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย จะมีราคาสูงขึ้นมาก กลายเป็นแรงจูงใจชั้นดี

UNODC สรุปว่า แนวทางหลักในปัจจุบัน คือ ต้องพยายามลดปริมาณการผลิตยาบ้าในภูมิภาคนี้ลงให้ได้ แต่ก็พบว่าที่ผ่านมา ยังคงตรวจยึด “สารตั้งต้น” ได้น้อยเกินไป ดังนั้นจึงยอมรับว่า ต้องมีกระบวนการในการเข้าไปทำความเข้าใจขอความร่วมมือจากเอกชนที่เป็นผู้จำหน่ายสารตั้งต้น (ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย) เพราะเมื่อมีปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมาก ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า สารตั้งต้นเหล่านั้น จะถูกนำไปผลิตยาเสพติด และอาจต้องมีกระบวนการติดตาม “การสั่งซื้อสารตั้งต้นที่น่าสงสัย” ด้วย

ส่วนหนึ่ง จากการอบรม iCPCJ หรือ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (Executive Programme on the Implementation of International Standards and Norms in Crime Prevention and Criminal Justice)